Tuesday, October 10, 2006

ทำไมดาราศาสตร์จึงน่าสนใจ?

ส่วนตัวผมเอง ผมสนใจมันหลายๆ แง่มุม

หากมองในแง่ของความเชื่อ นิยาย จิตนาการ
ตัวเอกหลายตัว ในเทพปกรนัมกรีก วิ่งเพ่นพ่านอยู่บนฟ้า
เฮอคิวลิส โอไรออน หรือเทพเจ้าสงคราม Mars เทพแห่งความงาม Venus
สัตว์หิมพานต์ลาติน พวก เปกาซัส เซนทอร์ เดรโก้ มากันหมด
มองมาทางไทย ทำให้รู้จิตนาการของคนไทยสมัยก่อน ก็เท่ไม่หยอก
มีดาวเต่า ดาวจระเข้ ดาวไถ ดาวค้างคาว ดาวลูกไก่ หรือแม้แต่กระต่ายบนดวงจันทร์

หากมองในแง่วิทยาศาสตร์
มันเป็นความจริงที่พอคุณรู้ มันเหนือจินตนาการไปไกลกว่าความรู้ประจำวัน
ในยุคแรก มนุษย์เชื่อว่า ตกดึก มีเทพนำถุงดำที่มีรูรั่วพรุนไปหมด มาคลุมโลกไว้
ต่อมาอีกนาน กาลิเลโอเถียงคอเป็นเอนว่าโลกกลม
นิวตั้นบอกเรื่องแรงดึงดูดระหว่างมวลใหญ่ๆ ที่ทำให้โลก โคจรรอบดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์โคจรรอบโลก
ไอสไตน์เก่งกว่า ที่เกือบอธิบายได้ทั้งหมด พร้อมทฤษฏีบางอันยังนำไปสู่การค้นพบอีกมากมาย

หากมองในมุมมองของธรรมะ
มันทำให้คุณรู้สึกเป็นเพียงแค่เสี้ยวเล็กของเม็ดทราย ท่ามกลางมหาสมุทรกว้างใหญ่
อัตตาที่เรามี ความเป็นตัวกูของกู มันช่างกระจิดริด เมื่อเทียบกับการกำเนิดของบิกแบงค์เมื่อหลายหมื่นล้านปีก่อน
ขนาดของโลกที่เราอยากเดินทางรอบ เล็กกว่าดาวพฤหัส พันสามร้อยกว่าเท่า

หากมองในมุมมองของอารมณ์โรแมนติก
“คืนที่ดาวเต็มฟ้า ฉันจิตนาการเป็นหน้าเธอ”
“จันทร์ไม่มองแล้วจันทร์ไม่มอง”
ด้วยแรงบันดาลใจใดๆ ที่ให้เพลงพวกนี้ออกมาก็เถอะ
แต่ถ้าคุณมาโอกาสนั่งใต้ฟ้าที่มีดาวสุกสกาวเต็มฟ้า
หรือ นั่งมองจันทร์ขอบฟ้า ดวงกลมโต
มันสวยจริงๆ
ลองดูสิ

Thursday, October 05, 2006

ขาย Hubble Telescope

รูปจากwww.telescopes.com/

ราคาแค่เกือบหมื่นล้านเหรียญเอง สนใจ คลิก

ลองกด Add to Cart ดู
พิเศษ! ฟรีค่าขนส่ง(แล้วใครจะขึ้นไปเอานะ)

ช่างมีอารมณ์ขันกันจริงๆ

Wednesday, October 04, 2006

คืนแรก กำลังใจ ภายใต้น้ำค้าง และเมฆหมอก

คืนวันที่ 23 กันยายน 2549
สถานที่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จุดกางเต้นลำตะคอง
กล้อง Orion Space Prop 130
กล้องตา 25mm, 10mm

เวลา 21.00น.
เงยหน้ามองฟ้า ที่เห็นชัดที่สุดคือ สามเหลี่ยมของ ดาวสว่างระดับตาเห็น Vega Altair Deneb สามดวงนี้ เป็นเครื่องมือที่ดีในการหาทิศเหนือยามหัวค่ำเช่นกัน ในกรณีขอบฟ้ามีเมฆ หรือแสงไฟมาก

เป้าหมายแรก คือการหา “อะไรน่าดู” แถวๆ สามเหลี่ยมนี้ แต่จนแล้วจนรอด ประกอบด้วยความไม่ชำนาญ ทำให้หาอะไรดูไม่ได้เลย อุปสรรค์สำคัญอีกอย่างคือ น้ำค้าง คืนนี้เป็นคืนที่น้ำค้างลงหนักมาก เพียงแค่วางกล้องไว้ไม่ถึงสิบนาที กล้องจะเปียกเหมือนโดนฝนปรอยๆ ได้เลยทีเดียว
ส่วนเมฆ นับว่ายังเป็นโชคดีที่ฟ้ายังเปิดอยู่บ้าง เพราะก่อนมาตรวจสอบเมฆแล้วแทบไม่มีความหวัง ฟ้าเปิดรอบแรกราวสามทุ่ม ก่อนดาวมัวๆ จะค่อยๆ จางหายไปตอนก่อนเที่ยงคืนเล็กน้อย
--------------------
เวลา 0.00น.
เข้านอนด้วยความผิดหวัง จากการไม่เห็นอะไรจริงจัง กับการออกมาดูดาวครั้งแรก
--------------------
เวลา 3.00 น.
ฟ้าเปิดรอบที่สอง ด้วยความมีน้ำใจของเพื่อนร่วมทริปที่ไม่หลับไม่นอน แล้วมาสะกิดให้ตื่นจากเต้นท์ที่หลังคาชุ่มไปด้วยน้ำค้าง
ฟ้าเปิดคราวนี้ คุณภาพดีกว่าเมื่อหัวค่ำมาก
ที่เห็นเด่นสุดคือฟ้าทางด้านทิศใต้ กลุ่มดาวเต่า และดาวไถ (Orion) เห็นได้ชัดเจนมาก และคงเป็นการง่ายถ้าได้เริ่มจากตรงนั้น

จากดาว Alnitak ดาวตัวล่าง ริมสุดของกลุ่มดาวไถ ถัดมาทางขวาเล็กน้อย ประมาณ หกองศา Azimuth

พบแล้ว

สิ่งที่น่าสนใจ มันคือ กลุ่มฝุ่นเนบิวล่า สองอัน อันล่างขวาคือ เนบิวล่า M42* แม้ภาพที่เห็นจะไม่หวือหวาเหมือนในจอคอมพิวเตอร์ แต่ภาพที่ปรากฏให้ตาเปล่าได้เห็นมันน่าตื่นเต้นดีแท้

โอกาสดีฟ้าเปิด เห็นกระจุกดาวลูกไก่อยู่เกือบกลางหัว และแล้ว ลูกไก่ทั้งเจ็ด (Seven Sisters) ก็เผยโฉมที่แท้จริง

แม้ฟ้าจะเปิดอย่างมีคุณภาพ แต่แสงไฟจากกลุ่มเต้นรอบข้าง และอาคารสุขาที่ห่างออกไปทุกทิศ ทำให้ไม่สามารถเห็นดาวบริเวณขอบฟ้าได้ ส่วนแผนที่ดาวที่พึ่งพาแต่คอมพิวเตอร์ laptop ที่แบตหมดเร็ว และไม่เหมาะต่อคืนน้ำค้างลงหนัก ก็ไม่สามารถรับใช้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยนัก
ถัดจากกระจุกดาวลูกไก่ที่จริงๆมีมากกว่าเจ็ดตัวแล้ว เมื่อหันหน้ามาทางทิศเหนือ ก็เห็นแนวขาหลังของ เปกาซัส เลยถือโอกาสหาแกแล็กซี่แอนโดรเมดร้า อยู่นาน แต่หาไม่เจอ สุดท้ายฟ้าปิดลง
--------------------
เวลา 5.00น.
หลับตานอนอย่างเป็นสุข คืนแรกในชีวิต ที่ตั้งใจมองแสงแห่งอดีตที่อาบเรามาชั่วชีวิตอย่างจริงจัง
ได้แค่นี้ก็คงคุ้มแล้ว

--------------------

*เนบิวล่า M42 เป็นกลุ่มดาววัยรุ่นสีฟ้า มีความร้อนจนทำให้กลุ่มแก็สที่อยู่ข้างเคียง สามารถเรื่องแสงออกมาได้ ซึ่งกลุ่มแก๊สที่ว่านี้ ขนาดความกว้างประมาณสองเท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางของระบบสุริยะของเรา
หากมีผู้สังเกตโลกของเราด้วยกล้องโทรทัศน์วิเศษจากกลุ่มเนบิวล่า M42 ตอนนี้เขาจะเห็นหลวงจีน Faxian เพิ่งกลับจากอินเดีย และกำลังแปลพระไตรปิฏกเป็นภาษาจีนอย่างขมีขมันอยู่ นั่นหมายความว่า ภาพเหล่านั้น แม้เดินทางด้วยความเร็วแสง ยังต้องใช้เวลาถึงหนึ่งพันหกร้อยปี

ภาพและข้อมูลจาก โปรแกรม Starry Night