Monday, November 20, 2006

อิ่มหมูกระทะ มาตามหาแกแล๊คซี่

คืนวันที่ 21 ตุลาคม 2549
สถานที่ บ้านเพื่อนผู้น่ารักและใจดีคนหนึ่ง วังน้ำเขียว นครราชสีมา
กล้อง Orion Space Prop 130
กล้องตา 25mm, 10mm, 5mm


22.00น.
คืนนี้เป็นคืนเดือนมืด ดาวเต็มฟ้า
แม้อยู่กลางเขา
แต่รีสอร์ทข้างๆ และที่ยอดเขาไกลออกไป ก็ส่งแสงรบกวนได้ไม่น้อย ทำให้ดาวที่ขอบฟ้าไม่ชัดนัก


แต่ก็ถือว่าคุณภาพฟ้าก็ดีมาก ถ้าเทียบกับหลายทริปที่ผ่านมา
ทางช้างเผือกเห็นอยู่ลางๆ พาดอยู่แนวตะวันออกเฉียงเหนือ สู่ตะวันตกเฉียงใต้
ดาวเต็มฟ้า วาดรูปเป็นกลุ่มดาว และจักรราศี แด้วยดาวสว่างที่ชัดๆ ตามจิตนาการพอได้

เพราะนี่เป็นเดือนตุลาคม ดวงอาทิตย์โคจรอยู่บริเวณราศีตุลย์
ดวงอาทิตย์ตกไปซักพักใหญ่ๆ แล้ว
ฟ้าด้านตะวันตกยังพอทันเห็น ราศีพฤศจิก หรือแมงป่อง แค่ส่วนหาง
กลุ่มดาวคนครึ่งม้ายิงธนู ประจำเดือนธันวาคม กำลังจะตกตามไป




ฟ้าทางด้านเหนือ ชัดที่สุดคือ สามเหลี่ยมฤดูร้อนตัวเดิม
ประกอบด้วยดาวสว่างสามดวง
กลุ่มที่ชัดที่สุดคือ กลุ่มดาวหงส์ หรือ Cygnus




ในสามเหลี่ยมฤดูร้อน มีของให้ดูเยอะ แต่หาไม่ค่อยเจอ
หรือเจอแล้วก็ไม่มีสี เลยไม่ค่อยตื่นตาตื่นใจ

สิ่งที่หามานานอีกอย่างคือ แกแล็คซี่แอนโดรเมดร้า
วิธีหาก็ง่ายๆ คือจากกลุ่มดาวค้างคาว
จะเล็งมาที่ดาวชัดๆ ดวงหนึ่งซึ่งอยู่ในกลุ่มดาวแอนโดรเมดร้า
ถัดไปข้างบนก็เป็นอีกดวงนึง
มองกลับมาทางซ้าย ประมาณ 14 องศา
หรือคือประมาณระยะระหว่างปลายกางนิ้วก้อยกับนิ้วชี้เมื่อเหยียดมือไปสุดแขน




แกแลคซี่แอนโดรเมดร้า ตามภาพในแผนที่ดาวคอมพิวเตอร์ เป็นอะไรที่น่าตื่นตาตื่นใจ
แต่พอส่องกล้อง มองไป ณ ตำแหน่งนั้น กลับเห็นแค่เป็นแค่กลุ่มฝุ่นจางๆ



2.00น.
หลับไปงีบนึง ออกมาดูอีกรอบ
ดาวเต็มฟ้าเหมือนเดิม

เริ่มหึกเหิม พยายามตามหาดาวหางอยู่สองสามดวง
ดาวหาง Faye ที่ความส่องสว่างหรือ โชติมาตร (Magnitude) อยู่ที่ประมาณ สิบกว่าๆ
(ตาเปล่ามองเห็นที่ระดับประมาณหก เลขน้อยคือสว่างมาก)
ดาวหาง Siding Spring (P/2006 HR30) Magnitude 12.79
หาจนเวียนหัวจะอ้วกเป็นหมูกระทะ ก็หาไม่เจอ




โชคยังเข้าข้างอยู่บ้าง
ที่ฝนดาวตก เลโอนิค ผ่านมาให้เห็นแก้เบื่อเกือบทุกห้านาที
บางลูกตกลงมาเป็นบอลไฟ ระเบิดเสียงดังบึ้ม เหลือร่องรอยควันจางๆ หางยาวๆ ให้เห็น

บางทีก็เห็นดาวเทียม วิ่งเร็วปรู๊ด ผ่านหน้ากล้องไปให้ตื่นเต้นบ้าง

ตีสามกว่าแล้ว ยังหาอะไรดูไม่เป็นชิ้นเป็นอัน กำลังจะถอดใจไปนอน
ดูแผนที่ดาวอีกรอบ ไล่หาตาม ระดับความสว่าง เจอที่สว่างเด่นคือ ดาวเสาร์
แต่ดูตำแหน่งแล้ว เพิ่งโผล่จากขอบฟ้า คงต้องรอประมาณตีห้า
แต่เดี๋ยวก่อน ดาวอะไรนั่นหลุดจากแนวภูเขามาไม่มาก ตำแหน่งเหมือนดาวเสาร์เลย
เอากล้องส่องดู
มันคือดาวเสาร์นั่นเอง
แถมมาอีกอันคือ ไทตัน ดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ



นอนตาหลับ ด้วยดาวเสาร์และไทตั้น จริงๆ คราวนี้

(ภาพประกอบจากโปรแกรมดูดาว Starry Night 2006 บวกการปรับแต่ง)

Tuesday, October 10, 2006

ทำไมดาราศาสตร์จึงน่าสนใจ?

ส่วนตัวผมเอง ผมสนใจมันหลายๆ แง่มุม

หากมองในแง่ของความเชื่อ นิยาย จิตนาการ
ตัวเอกหลายตัว ในเทพปกรนัมกรีก วิ่งเพ่นพ่านอยู่บนฟ้า
เฮอคิวลิส โอไรออน หรือเทพเจ้าสงคราม Mars เทพแห่งความงาม Venus
สัตว์หิมพานต์ลาติน พวก เปกาซัส เซนทอร์ เดรโก้ มากันหมด
มองมาทางไทย ทำให้รู้จิตนาการของคนไทยสมัยก่อน ก็เท่ไม่หยอก
มีดาวเต่า ดาวจระเข้ ดาวไถ ดาวค้างคาว ดาวลูกไก่ หรือแม้แต่กระต่ายบนดวงจันทร์

หากมองในแง่วิทยาศาสตร์
มันเป็นความจริงที่พอคุณรู้ มันเหนือจินตนาการไปไกลกว่าความรู้ประจำวัน
ในยุคแรก มนุษย์เชื่อว่า ตกดึก มีเทพนำถุงดำที่มีรูรั่วพรุนไปหมด มาคลุมโลกไว้
ต่อมาอีกนาน กาลิเลโอเถียงคอเป็นเอนว่าโลกกลม
นิวตั้นบอกเรื่องแรงดึงดูดระหว่างมวลใหญ่ๆ ที่ทำให้โลก โคจรรอบดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์โคจรรอบโลก
ไอสไตน์เก่งกว่า ที่เกือบอธิบายได้ทั้งหมด พร้อมทฤษฏีบางอันยังนำไปสู่การค้นพบอีกมากมาย

หากมองในมุมมองของธรรมะ
มันทำให้คุณรู้สึกเป็นเพียงแค่เสี้ยวเล็กของเม็ดทราย ท่ามกลางมหาสมุทรกว้างใหญ่
อัตตาที่เรามี ความเป็นตัวกูของกู มันช่างกระจิดริด เมื่อเทียบกับการกำเนิดของบิกแบงค์เมื่อหลายหมื่นล้านปีก่อน
ขนาดของโลกที่เราอยากเดินทางรอบ เล็กกว่าดาวพฤหัส พันสามร้อยกว่าเท่า

หากมองในมุมมองของอารมณ์โรแมนติก
“คืนที่ดาวเต็มฟ้า ฉันจิตนาการเป็นหน้าเธอ”
“จันทร์ไม่มองแล้วจันทร์ไม่มอง”
ด้วยแรงบันดาลใจใดๆ ที่ให้เพลงพวกนี้ออกมาก็เถอะ
แต่ถ้าคุณมาโอกาสนั่งใต้ฟ้าที่มีดาวสุกสกาวเต็มฟ้า
หรือ นั่งมองจันทร์ขอบฟ้า ดวงกลมโต
มันสวยจริงๆ
ลองดูสิ

Thursday, October 05, 2006

ขาย Hubble Telescope

รูปจากwww.telescopes.com/

ราคาแค่เกือบหมื่นล้านเหรียญเอง สนใจ คลิก

ลองกด Add to Cart ดู
พิเศษ! ฟรีค่าขนส่ง(แล้วใครจะขึ้นไปเอานะ)

ช่างมีอารมณ์ขันกันจริงๆ

Wednesday, October 04, 2006

คืนแรก กำลังใจ ภายใต้น้ำค้าง และเมฆหมอก

คืนวันที่ 23 กันยายน 2549
สถานที่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จุดกางเต้นลำตะคอง
กล้อง Orion Space Prop 130
กล้องตา 25mm, 10mm

เวลา 21.00น.
เงยหน้ามองฟ้า ที่เห็นชัดที่สุดคือ สามเหลี่ยมของ ดาวสว่างระดับตาเห็น Vega Altair Deneb สามดวงนี้ เป็นเครื่องมือที่ดีในการหาทิศเหนือยามหัวค่ำเช่นกัน ในกรณีขอบฟ้ามีเมฆ หรือแสงไฟมาก

เป้าหมายแรก คือการหา “อะไรน่าดู” แถวๆ สามเหลี่ยมนี้ แต่จนแล้วจนรอด ประกอบด้วยความไม่ชำนาญ ทำให้หาอะไรดูไม่ได้เลย อุปสรรค์สำคัญอีกอย่างคือ น้ำค้าง คืนนี้เป็นคืนที่น้ำค้างลงหนักมาก เพียงแค่วางกล้องไว้ไม่ถึงสิบนาที กล้องจะเปียกเหมือนโดนฝนปรอยๆ ได้เลยทีเดียว
ส่วนเมฆ นับว่ายังเป็นโชคดีที่ฟ้ายังเปิดอยู่บ้าง เพราะก่อนมาตรวจสอบเมฆแล้วแทบไม่มีความหวัง ฟ้าเปิดรอบแรกราวสามทุ่ม ก่อนดาวมัวๆ จะค่อยๆ จางหายไปตอนก่อนเที่ยงคืนเล็กน้อย
--------------------
เวลา 0.00น.
เข้านอนด้วยความผิดหวัง จากการไม่เห็นอะไรจริงจัง กับการออกมาดูดาวครั้งแรก
--------------------
เวลา 3.00 น.
ฟ้าเปิดรอบที่สอง ด้วยความมีน้ำใจของเพื่อนร่วมทริปที่ไม่หลับไม่นอน แล้วมาสะกิดให้ตื่นจากเต้นท์ที่หลังคาชุ่มไปด้วยน้ำค้าง
ฟ้าเปิดคราวนี้ คุณภาพดีกว่าเมื่อหัวค่ำมาก
ที่เห็นเด่นสุดคือฟ้าทางด้านทิศใต้ กลุ่มดาวเต่า และดาวไถ (Orion) เห็นได้ชัดเจนมาก และคงเป็นการง่ายถ้าได้เริ่มจากตรงนั้น

จากดาว Alnitak ดาวตัวล่าง ริมสุดของกลุ่มดาวไถ ถัดมาทางขวาเล็กน้อย ประมาณ หกองศา Azimuth

พบแล้ว

สิ่งที่น่าสนใจ มันคือ กลุ่มฝุ่นเนบิวล่า สองอัน อันล่างขวาคือ เนบิวล่า M42* แม้ภาพที่เห็นจะไม่หวือหวาเหมือนในจอคอมพิวเตอร์ แต่ภาพที่ปรากฏให้ตาเปล่าได้เห็นมันน่าตื่นเต้นดีแท้

โอกาสดีฟ้าเปิด เห็นกระจุกดาวลูกไก่อยู่เกือบกลางหัว และแล้ว ลูกไก่ทั้งเจ็ด (Seven Sisters) ก็เผยโฉมที่แท้จริง

แม้ฟ้าจะเปิดอย่างมีคุณภาพ แต่แสงไฟจากกลุ่มเต้นรอบข้าง และอาคารสุขาที่ห่างออกไปทุกทิศ ทำให้ไม่สามารถเห็นดาวบริเวณขอบฟ้าได้ ส่วนแผนที่ดาวที่พึ่งพาแต่คอมพิวเตอร์ laptop ที่แบตหมดเร็ว และไม่เหมาะต่อคืนน้ำค้างลงหนัก ก็ไม่สามารถรับใช้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยนัก
ถัดจากกระจุกดาวลูกไก่ที่จริงๆมีมากกว่าเจ็ดตัวแล้ว เมื่อหันหน้ามาทางทิศเหนือ ก็เห็นแนวขาหลังของ เปกาซัส เลยถือโอกาสหาแกแล็กซี่แอนโดรเมดร้า อยู่นาน แต่หาไม่เจอ สุดท้ายฟ้าปิดลง
--------------------
เวลา 5.00น.
หลับตานอนอย่างเป็นสุข คืนแรกในชีวิต ที่ตั้งใจมองแสงแห่งอดีตที่อาบเรามาชั่วชีวิตอย่างจริงจัง
ได้แค่นี้ก็คงคุ้มแล้ว

--------------------

*เนบิวล่า M42 เป็นกลุ่มดาววัยรุ่นสีฟ้า มีความร้อนจนทำให้กลุ่มแก็สที่อยู่ข้างเคียง สามารถเรื่องแสงออกมาได้ ซึ่งกลุ่มแก๊สที่ว่านี้ ขนาดความกว้างประมาณสองเท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางของระบบสุริยะของเรา
หากมีผู้สังเกตโลกของเราด้วยกล้องโทรทัศน์วิเศษจากกลุ่มเนบิวล่า M42 ตอนนี้เขาจะเห็นหลวงจีน Faxian เพิ่งกลับจากอินเดีย และกำลังแปลพระไตรปิฏกเป็นภาษาจีนอย่างขมีขมันอยู่ นั่นหมายความว่า ภาพเหล่านั้น แม้เดินทางด้วยความเร็วแสง ยังต้องใช้เวลาถึงหนึ่งพันหกร้อยปี

ภาพและข้อมูลจาก โปรแกรม Starry Night